ดูแลผิวช่วงหน้าฝนให้สุขภาพดี ในช่วงหน้าฝน

ในช่วงนี้เป็นช่วงต้นฤดูฝน มีหลายๆ โรคที่มักจะสร้างความเจ็บป่วยหรือก่อความรำคาญให้กับตัวเองและผู้อื่นสำหรับโรคผิวหนังที่มากับหน้าฝน คงไม่พ้นจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความอับชื้น โรคน้ำกัดเท้า

เพราะเวลาเท้าแช่น้ำนานๆ ทำให้เกิดผื่น ผิวแห้ง ผิวเปื่อยได้ ซึ่งจริงๆ น้ำไม่ได้กัดแต่น้ำทำให้เกิดการระคายเคือง แห้ง แตกเป็นขุยได้ เมื่อแห้งอยู่นานๆ เชื้อราและแบคทีเรียจะมาแทรกซ้อน โรคเชื้อราที่เท้าจะมีอาการคัน มีผื่นแดง บางครั้งอาจจะมีเม็ดใสๆ ตามขอบเท้า หรือขอบนิ้ว ถ้าเป็นเชื้อยีสต์ จะเห็นเป็นผื่น ขุยขาวๆ ตามซอกนิ้ว ส่วนเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการเจ็บ ผื่นแฉะเป็นหนอง

  1. โรคเท้าเป็นรู (Pitted Keratolysis) หรือโรคเท้าเหม็น

เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจมองข้ามไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ชอบความอับชื้น ลักษณะโรคจะเห็นฝ่าเท้ามีรูพรุนๆ เป็นวงๆ มีกลิ่นอับ มักพบในคนที่มีเหงื่อออกที่เท้าเยอะ การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะทาหรือกิน

โรคที่ความชื้นเป็นสาเหตุกระตุ้น เช่น ผดผื่น สิว หรือขุยบริเวณหน้า ตั้งแต่ผดเล็กๆ อันเนื่องมาจากเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้มีเหงื่อหรือสารคัดหลั่งจากต่อมไขมันคั่งค้างในรูขุมขนได้ บางคนเรียกว่า ผดเหงื่อ หรือบางรายสิวขึ้นมากกว่าปกติ อันเนื่องจากผิวมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ และทำให้เชื้อสิวเจริญเติบโตมากกว่าปกติ ยิ่งช่วงนี้ที่ต้องใส่มาสค์ตลอดโอกาสที่เกิดสิวจะง่ายกว่าปกติ

  1. โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส

โรคที่ระบาดในช่วงฤดูนี้ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักมากับฝน เช่น ไข้ออกผื่น โรคหัดดอกกุหลาบ (Pityriasis Rosea) ก็สามารถพบได้มากขึ้นในหน้าฝน ลักษณะของโรคนี้จะมีผื่นนำเป็นวงมักพบที่ลำตัวก่อนและลามมาทั่วตัว ตามตำแหน่งเหมือนคนใส่กางเกงขาสั้น เสื้อแขนสั้น สาเหตุที่แท้จริงไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นไวรัสทำให้พบได้ในช่วงฤดูฝน โรคนี้สามารถหายเองได้

  1. ด้วงก้นกระดก

สามารถพบได้บ่อยในช่วงฝนต่อหนาวในบริเวณหนองน้ำ ลักษณะโรคจะเป็นตามรอยที่สัมผัสกับด้วงก้นกระดก เกิดจากสารเคมีในตัวมาสัมผัสผิวหนัง ด้วงไม่ได้กัด แต่เกิดจากเราไปบี้เอาสารในตัว ลักษณะบางครั้งจะเป็นเส้นตามรอยที่เราปัดทำให้บางครั้งคิดว่าเป็นโรคงูสวัด

  1. โรคงูสวัด

เป็นเชื้อไวรัส Herpes Virus เป็นเชื้อเดียวกับอีสุกอีใส เมื่อเป็นอีสุกอีใสหายแล้วเชื้อจะอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อจึงออกมาลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำ เรียงตัวเป็นเส้นตามเส้นประสาท มีอาการปวดแสบปวดร้อน ความรุนแรงขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย บางคนเมื่อหายแล้วจะมีอาการเส้นประสาทอักเสบได้อีกนาน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ไว้ก่อนจะดีกว่า

ดังนั้นในฤดูฝนนี้ ต้องรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ แล้วคุณก็จะมีสุขภาพผิวที่ดี

ข้อมูลจาก : ผศ.พญ.สุวิรากร ธรรมศักดิ์  ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

ปรึกษาอาหารได้ที่ : ธัญชนก ศรีน้อยเมือง (นักโภชนาการ)

โทร : 081-1371135 Line: cha_nok